การคาดการณ์จำนวนคำสั่งซื้อของคุณ

การคาดการณ์ความต้องการซื้อคือการที่คุณประมาณจำนวนคำสั่งซื้อที่ธุรกิจของคุณจะได้รับในอีกไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งควรนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจวางแผนการโปรโมตหรือการขาย การเปิดตัวสินค้าใหม่ และการยกเลิกการจัดจำหน่ายสินค้า การเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกี่ยวกับจำนวนคำสั่งซื้อโดยเฉลี่ยของคุณจะช่วยให้คุณประหยัดเงิน และช่วยรักษาประสบการณ์การใช้งานของลูกค้าที่ดีได้ ตลอดจนช่วยให้บริการจัดการคำสั่งซื้อของคุณเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงด้านปริมาณคำสั่งซื้ออีกด้วย

ตัวอย่างเช่น สมมติว่าโดยปกติแล้วบริการจัดการคำสั่งซื้อสำหรับธุรกิจของคุณต้องจัดการคำสั่งซื้อจำนวน 100 รายการในแต่ละสัปดาห์ และในกรณีที่คุณเผยแพร่แคมเปญทางการตลาดจนทำให้จำนวนคำสั่งซื้อพุ่งสูงถึง 500 รายการโดยผู้ให้บริการของคุณไม่ทราบ ในกรณีนี้บริการจัดการคำสั่งซื้ออาจไม่ได้เตรียมพร้อมรับมือกับจำนวนคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นมา ซึ่งอาจส่งผลให้การดำเนินงานและการจัดส่งถึงมือลูกค้าของคุณล่าช้า นอกจากนี้คุณอาจไม่ได้ส่งสินค้าคงคลังสำหรับบริการจัดการคำสั่งซื้อเพียงพอก็เป็นได้ ดังนั้นการคาดการณ์ความต้องการซื้อและแจ้งให้ทางบริการจัดการคำสั่งซื้อของคุณทราบ จะทำให้คุณสามารถมั่นใจได้ว่าทั้งคุณและบริการจัดการคำสั่งซื้อของคุณเตรียมพร้อมรับมือกับจำนวนคำสั่งซื้อที่เพิ่มสูงขึ้นตามที่คาดการณ์ได้

ประโยชน์ของการคาดการณ์ความต้องการซื้อ

ประโยชน์ของการคาดการณ์ความต้องการซื้อมาจากการเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงด้านระดับจำนวนยอดขายโดยเฉลี่ยของคุณ หรือกล่าวใช้ชัดเจนยิ่งขึ้นก็คือการคาดการณ์ความต้องการซื้อจะมีประโยชน์ดังต่อไปนี้:

  • ช่วยให้คุณเข้าใจผลลัพธ์ของการโปรโมตหรือสินค้าใหม่ๆ ของคุณในด้านจำนวนการสั่งซื้อโดยรวม
  • ช่วยให้คุณวางแผนสำหรับกิจกรรมการขายที่สำคัญๆ เช่น การลดราคาช่วงแบล็กฟรายเดย์และไซเบอร์มันเดย์เพื่อให้แน่ใจว่าคุณจะไม่พลาดโอกาสในการสร้างรายได้
  • ช่วยให้มั่นใจว่าลูกค้าของคุณได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดด้วยระยะเวลาการจัดส่งที่รวดเร็ว เนื่องจากมีสินค้าในสต็อกเสมอและบริการจัดการคำสั่งซื้อมีทรัพยากรเพียงพอสำหรับจัดการคำสั่งซื้ออย่างรวดเร็ว
  • ช่วยให้คุณตัดสินใจเกี่ยวกับสินค้าคงคลังได้ เช่น เมื่อไรที่คุณควรจะส่งสินค้าเพิ่มเติมไปให้ทางบริการจัดการคำสั่งซื้อของคุณ
  • ประหยัดเงินด้วยการช่วยให้คุณหลีกเลี่ยงการส่งสินค้าคงคลังไปเก็บไว้ที่บริการจัดการคำสั่งซื้อของคุณมากเกินไป ซึ่งอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดส่งและจัดเก็บสินค้าคงคลัง

เริ่มต้นใช้งานการคาดการณ์ความต้องการซื้อ

แม้ว่าทุกๆ ธุรกิจสามารถรับประโยชน์จากการคาดการณ์ความต้องการซื้อได้ แต่จะมีประโยชน์ที่สุดเมื่อคุณมีข้อมูลประวัติความต้องการซื้อให้พิจารณาร่วมด้วย สำหรับธุรกิจที่ไม่มีข้อมูลประวัติการขาย ให้คำนึงถึงผลลัพธ์ที่อาจจะได้รับจากความพยายามทางการตลาดของคุณและขั้นตอนใดที่ทำให้การจัดการคำสั่งซื้อเกิดติดขัด วิธีนี้จะช่วยเป็นแนวทางสำหรับการตัดสินใจของธุรกิจได้ตั้งแต่แรกเริ่ม สำหรับธุรกิจที่มีข้อมูลประวัติการขายอยู่บ้าง คุณสามารถเริ่มวางแผนธุรกิจของคุณผ่านการคาดการณ์ความต้องการซื้อโดยใช้ข้อมูลจำนวนคำสั่งซื้อในแต่ละสัปดาห์ที่คงที่จำนวน 8 สัปดาห์เท่านั้น และเมื่อมีข้อมูลจำนวนคำสั่งซื้อครบ 1 ปีแล้ว คุณจะสามารถเริ่มการคาดการณ์เป็นช่วงฤดูกาลได้ เช่นช่วงเดือนที่มียอดขายสูงและช่วงเดือนที่มียอดขายต่ำ

ก่อนที่คุณจะเริ่มคาดการณ์ความต้องการซื้อของคุณ ให้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจของคุณในด้านต่อไปนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ก่อน:

  • ข้อมูลประวัติความต้องการซื้อ

    • จำนวนยอดขายเฉลี่ยของคุณในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ และแต่ละเดือน
    • ธุรกิจของคุณเคยพบผลกระทบจากฤดูกาลด้านใดบ้าง
  • แผนสำหรับการโปรโมตครั้งต่อไป

    • คุณจะโปรโมตอะไรบ้างในอีกสามเดือนต่อจากนี้
    • คุณเคยได้รับผลลัพธ์จากการโปรโมตอย่างไรบ้าง
  • แผนสำหรับการเปิดตัวหรือยกเลิกการจัดจำหน่ายสินค้าครั้งต่อไป

ตัวอย่างเช่น หากธุรกิจของคุณเพิ่งเปิดมาได้ไม่นาน คุณอาจทราบแค่ข้อมูลดังต่อไปนี้:

  • ยอดขายในแต่ละวันโดยเฉลี่ย: 25
  • ยอดขายในแต่ละสัปดาห์โดยเฉลี่ย: 178
  • ยอดขายในแต่ละเดือนโดยเฉลี่ย: 706
  • การโปรโมตโดยทั่วไปทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น 15%
  • การโปรโมตครั้งใหม่จะเริ่มในอีกสามสัปดาห์ซึ่งมีงบประมาณมากกว่าการโปรโมตโดยทั่วไปสามเท่า และมีระยะเวลาสองวันช่วงสุดสัปดาห์
  • จะมีการยกเลิกการจัดจำหน่ายสินค้าในอีกเจ็ดสัปดาห์

จากตัวอย่างข้างต้น คุณอาจต้องแจ้งให้บริการจัดการคำสั่งซื้อของคุณทราบว่าในอีกสามสัปดาห์ คุณคาดว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้น 50% หรือได้รับคำสั่งซื้ิอประมาณ 75 รายการตลอดสองวัน ซึ่งมากกว่าเดิมที่มีเพียง 50 รายการ แม้ว่าบริการจัดการคำสั่งซื้อของคุณอาจไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับยอดขายที่เพิ่มขึ้น 25 รายการ แต่หากธุรกิจทั้งหมด 50 แห่งของบริการดังกล่าวได้จัดการลดราคาในช่วงสุดสัปดาห์เดียวกัน หมายความว่าบริการนั้นจะต้องจัดการคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น 1,250 รายการ ซึ่งอาจจำเป็นต้องเตรียมรับมือล่วงหน้า

นอกจากนี้ การโปรโมตของคุณจะส่งผลต่อการยกเลิกจัดจำหน่ายสินค้าของคุณในอีกเจ็ดสัปดาห์หรือไม่ เพราะแม้ว่าคุณจะยกเลิกจัดจำหน่ายสินค้าดังกล่าว แต่สินค้าคงคลังจะเพียงพอสำหรับการขายในช่วงตลอดทั้งเจ็ดสัปดาห์หรือไม่ โดยต้องคำนวณยอดขายที่เพิ่มจากการโปรโมตด้วย

การแจ้งให้บริการจัดการคำสั่งซื้อของคุณทราบจะช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีและช่วยให้ทั้งสองฝ่ายเตรียมพร้อมรับมือกับความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้ อีกทั้งยังปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าของคุณได้อย่างราบรื่นขึ้นอีกด้วย

Shopify มีส่วนช่วยอย่างไร

ร้านค้า Shopify ของคุณจะมีรายงานยอดขาย สินค้าคงคลัง และการตลาดต่างๆ ที่คุณสามารถใช้เพื่อติดตามแนวโน้มจำนวนยอดขายและคำสั่งซื้อได้ โดยคุณสามารถเข้าถึงรายงานต่างๆ เช่น รายงานทางการเงินสำหรับการขาย ยอดขายในช่วงเวลาที่กำหนด สินค้าคงคลังที่ขายไปในแต่ละวันโดยเฉลี่ย และยอดขายที่มาจากการตลาด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแผนการสมัครใช้งานของร้านค้าคุณด้วย

นอกจากนี้ คุณยังสามารถใช้หน้าตัววิเคราะห์ข้อมูลของร้านค้าเพื่อรับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับธุรกิจของคุณด้วยเช่นกัน

หากธุรกิจของคุณเพิ่งเริ่มดำเนินการได้ไม่นาน คุณอาจไม่จำเป็นต้องใช้รายงานจาก Shopify เลย เนื่องจากคุณรู้ถึงจำนวนการขายที่แน่ชัดอยู่แล้วโดยไม่ต้องคำนวณมากมายนัก อย่างไรก็ตามเมื่อธุรกิจของคุณเติบโตขึ้น รายงานเหล่านี้จะช่วยให้คุณประหยัดเวลาในการคำนวณค่าเฉลี่ยต่างๆ ของร้านค้าได้

วิธีการทำงานร่วมกับบริการจัดการคำสั่งซื้อของคุณ

การแจ้งผู้ให้บริการจัดการคำสั่งซื้อของคุณทราบถึงแผนการคาดการณ์ความต้องการซื้อที่สมเหตุสมผล จะช่วยให้คุณสามารถมั่นใจได้ว่าผู้ให้บริการรายดังกล่าวจะมีแรงงานและทรัพยากรในระดับที่เพียงพอต่อการจัดการคำสั่งซื้อของคุณอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ติดต่อผู้ให้บริการจัดการคำสั่งซื้อของคุณและสอบถามถึงวิธีที่ดีที่สุดในการแจ้งข้อมูลเหล่านี้ ตลอดจนช่วงระยะเวลาการแจ้งข้อมูลตามปกติด้วย ธุรกิจบางรายพบว่าการทำเช่นนี้เป็นประจำทุกๆ สัปดาห์เป็นประโยชน์มากที่สุด ในขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กบางรายจะติดต่อบริการจัดการคำสั่งซื้อของตนเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เท่านั้น

สำหรับช่วงวันหยุดที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุด จะเป็นการดีที่สุดที่คุณจะคาดการณ์บ่อยกว่าปกติ เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่มักจะมียอดขายเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกับจำนวนคำสั่งซื้อที่บริการจัดการคำสั่งซื้อต้องจัดการ ในช่วงเวลาเหล่านี้ ให้คุณคาดการณ์ผลลัพธ์ของคุณทุกๆ สองสัปดาห์และเปรียบเทียบกับตัวเลขยอดขายจริงของคุณ

เมื่อธุรกิจของคุณเติบโตขึ้น การแจ้งผู้ให้บริการจัดสั่งคำสั่งซื้อของคุณทราบถึงความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่มีต่อคำสั่งซื้อที่คาดการณ์ไว้จะสำคัญมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงดังต่อไปนี้:

  • การเริ่ม เปลี่ยน หรือยุติการตลาดผ่านอีเมลของคุณ
  • การเพิ่มหรือการลดค่าใช้จ่ายในการโฆษณาของคุณ
  • กิจกรรมการลดราคาครั้งยิ่งใหญ่

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อการคาดการณ์ของคุณไม่ถูกต้อง

การคาดการณ์เกือบทั้งหมดมักจะไม่ถูกต้อง แต่เป้าหมายไม่ใช่การคาดการณ์ให้ถูกต้องแม่นยำ แต่เป็นการคาดการณ์ให้ใกล้เคียงเท่านั้น เพื่อให้มีสินค้าคงคลังและทรัพยากรมากพอที่จะจัดการคำสั่งซื้อของคุณได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามปกติแล้ว ให้ลองคาดการณ์ความคลาดเคลื่อนของผลกำไรในช่วง 10-15% เป็นประจำทุกสัปดาห์ตลอดทั้งปี ยิ่งคุณคาดการณ์บ่อยเท่าไร คุณก็จะเข้าใจแนวโน้มมากขึ้นเท่านั้น หากคุณคาดการณ์ยอดขายน้อยกว่าอยู่เสมอ คุณก็จะรู้ว่าจะต่อไปคุณจะต้องคาดการณ์ให้สูงขึ้นเมื่อผลกำไรใกล้เคียงกัน

พยายามคาดการณ์อย่างยุติธรรมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้จะช่วยให้คาดการณ์ได้แม่นยำยิ่งขึ้น การใช้เครื่องมือที่เหมาะกับขนาดของธุรกิจก็ช่วยได้เช่นกัน หากคุณเริ่มคาดการณ์เพื่อแจ้งให้ผู้บริการจัดการคำสั่งซื้อของคุณทราบ การใช้สเปรดชีตจะเหมาะสมอย่างมาก เมื่อคุณขยายตัวและธุรกิจของคุณเติบโตเต็มที่ รายงานในร้านค้า Shopify จะช่วยให้คุณดูและวิเคราะห์แนวโน้มในขอบเขตที่กว้างขึ้นได้

พร้อมเริ่มต้นการขายด้วย Shopify แล้วหรือยัง

ทดลองใช้งานฟรี